การวางรากฐานของอาเซียนด้วย สามเสาหลัก

Asean Corner มุมความรู้สู่ประชาคมอาเซียน อาเซียน
Asean Corner มุมความรู้สู่ประชาคมอาเซียน อาเซียน

ในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการสร้างบรรยากาศของสันติภาพและการอยู่ร่วมกันโดยสันติของ ประเทศในภูมิภาค การช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชา การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน เป็นต้น

ปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งในด้าน การเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทำให้อาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ มากมาย เช่นโรคระบาด การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ พิบัติภัยธรรมชาติเช่น คลื่นยักษ์สึนามิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ความเสี่ยงที่อาเซียนอาจจะไม่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด เป็นต้น อาเซียนจึงต้องปรับตัวเพื่อให้รับมือกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นให้ได้

เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี 2 เห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียน คือการให้อาเซียนรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี 2563 แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี 2558 โดยจะเป็นประชาคมที่ประกอบด้วย 3 เสาหลักซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คือ

  1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC) มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูป แบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง
  2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน
  3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้อ อาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม

ในชั้นนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคม อาเซียนใน 3 เสาหลักนี้ โดยในแต่ละประชาคมจะมีกลไกที่เรียกว่า “คณะมนตรีประชาคม” ซึ่งเป็นกลไกระดับรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลและขับเคลื่อนดำเนินงานตาม แผนงานดังกล่าวต่อไป

ที่มา : AseanCorner.com

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here