[รัฐศาสตร์] สหรัฐอเมริกาเลือกตั้งประธานาธิบดีกันอย่างไร

ช่วงนี้กำลังมีข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ หลายคนอาจจะสงสัยกันว่าเขาเลือกตั้งกันยังงัย เพราะฟังจากในข่าวแล้วดูซับซ้อนหลายขั้นตอนจัง (ซับซ้อนหลายขั้นตอนจริงๆ) งั้นมาเริ่มทำความเข้าใจระบอบการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกากันครับ

ประเทศสหรัฐอเมริกา ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แบบมีประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ (Head of state) และเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วย (Head of government) ดังนั้นประธานาธิบดีจึงเป็นตำแหน่งสูงสุดของประเทศ มีวาระการดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี ตำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ ซึ่งประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ บารัค โอบามา ตำรงตำแหน่งครบ 2 วาระแล้ว จึงไม่สามารถลงสมัครได้อีก

ประเทศสหรัฐอเมริกา มีระบบพรรคการเมืองแบบ 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเดโมแครต (Democratic Party) และพรรคริพับลิกัน (Republican Party) ซึ่งแต่ละพรรคจะทำการสรรหาตัวแทนของพรรคด้วยการเลือกตั้งขั้นต้นหรือที่เรียกว่า Primary Election ซึ่งจะมี 2 แบบคือ Primary และ Caucus (ไม่ขอลงรายละเอียด เพราะแต่ละรัฐจะมีวิธีที่แตกต่างกันไป ค่อยข้างซับซ้อนพอสมควร) จากการสรรหาตัวแทนของ 2 พรรคใหญ่ที่ผ่านมาปรากฎว่า

  • นางฮิลลารี คลินตัน ได้เป็นตัวแทน พรรคเดโมแครต (Democratic Party)
  • นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นตัวแทน พรรคริพับลิกัน (Republican Party)

วันเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้ว่า วันเลือกตั้งประธานาธิบดีจะตรงกับวันอังคารที่อยู่หลังวันจันทร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน (เงื่อนไข อ่านแล้วงงพอสมควร) ดังนั้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้จึงตรงกับวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2016 เมื่อถึงวันเลือกตั้ง พลเมืองสหรัฐอเมริกาก็จะไปออกเสียงเลือกตั้งตามพื้นที่ที่ตนมีสิทธิอยู่ ซึ่งแต่ละรัฐมีรูปแบบการลงคะแนนที่แตกต่างกันบ้างบางอย่าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเหมือนกัน

การเลือกตั้งของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแบบการเลือกตั้งทางอ้อม (ไม่ใช่การเลือกตั้งทางตรงอย่างที่บางคนอาจจะเข้าใจผิด) คือ พลเมืองจะออกไปลงคะแนน หรือที่เรียกว่า Popular Vote เพื่อให้ได้คณะผู้เลือกตั้งหรือที่เรียกว่า Electoral College ของแต่ละรัฐ ซึ่งในแต่ละรัฐมีจำนวนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของแต่ละรัฐ ถ้าผู้สมัครคนใดได้คะแนน Popular Vote (คะแนนที่พลเมืองออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง) มากที่สุดในรัฐนั้น ก็จะได้จำนวนคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดของรัฐนั้นไปเลย เรียกว่า Winner Take All

คณะผู้เลือกตั้งทั้งประเทศรวมทั้งหมดจะมีจำนวน 538 เสียง ดังนั้นคีย์หลักจะอยู่ที่คณะผู้เลือกตั้งนี้แหละครับ เพราะคนที่จะไปเลือกประธานาธิบดีจริงๆ คือ คณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งการเลือกดังกล่าวจะเรียกว่า Electoral Vote หากผู้สมัครคนใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 270 เสียงก่อนผู้นั้นก็เป็นผู้ชนะ ได้ดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ ของประเทศสหรัฐอเมริกา

08/11/2016
Dulloh

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ)

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ)  มีทั้งหมด 16 หมวด 279 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล จำนวน 105 หน้า

สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ)

รูปแบบของรัฐ

  • ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

รูปแบบการปกครอง

  • ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ที่มาและผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

  • อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

หลักการใช้อำนาจอธิปไตย

  • องค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค

  • ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
  • ปวงชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

หลักความเป็นกฎหมายสูงสูดของรัฐธรรมนูญ

  • รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น ใช้บังคับมิได้
  • ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัยให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมดังกล่าวให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ

สถาบันพระมหากษัตริย์

  • คงหลักการเดิม – แต่ปรับปรุงหลักการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเพื่อบรรเทาพระราชภาระ โดยบัญญัติเพิ่มเติมว่า พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ และในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นไปพลางก่อนได้

หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

  • บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย การนับถือศาสนา ความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ครอบครัว เคหสถาน การแสดงความคิดเห็นโดยวิธีการต่าง ๆ การติดต่อสื่อสารถึงกัน เสรีภาพในทางวิชาการ การเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ การประกอบอาชีพ การมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก การเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ การร้องทุกข์ การฟ้องหน่วยงานของรัฐ การรวมตัวกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมชน สมาคม สหกรณ์ สหภาพ สหพันธ์ ฯลฯ การอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการจัดตั้งพรรคการเมือง
  • บุคคลผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้เป็นมารดาย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐทั้งก่อนและหลังการคลอดบุตร ผู้มีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีพและบุคคลผู้ยากไร้ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ
  • บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
  • ทั้งบุคคลและชุมชนมีสิทธิอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลป วัฒนธรรม รวมทั้ง อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ มีสิทธิจัดระบบสวัสดิการชุมชน มีสิทธิเสนอความเห็นให้หน่วยงานของรัฐกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน รวมทั้งมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐ
  • บุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และองค์กรเหล่านี้สามารถรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรใหญ่เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองผู้บริโภคได้
  • นอกจากสิทธิและเสรีภาพข้างต้นแล้ว การใดที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมิได้ห้ามหรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพไว้ บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้น ๆ ได้อย่างเสรี และถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  • สำหรับสิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ถึงแม้จะยังมิได้มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ รัฐธรรมนูญนี้ก็รับรองว่า บุคคลหรือชุมชนสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ทันทีตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
  • อย่างไรก็ดี เพื่อให้การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลและชุมชนต้องเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ สังคม และบุคคลอื่น ไม่ใช้สิทธิและเสรีภาพกันอย่างเกินเลยเหมือนเช่นหลายปีที่ผ่านมาจนทำให้บ้านเมืองเสียหาย ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิและเสรีภาพไว้ชัดเจนว่า บุคคลและชุมชนต้องไม่ใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเกินขอบเขต กล่าวคือการใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้น ต้อง …
  1. ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
  2. ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและประชาชน และ
  3. ไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
  • เมื่อใดก็ตามที่มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินขอบเขต ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการนั้นสามารถใช้สิทธิทางศาลผ่าน “ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง” เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของตนที่ถูกล่วงละเมิด รวมทั้งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ หรือจะฟ้องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยตรงเพื่อให้วินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้  สำหรับบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐ
  • นอกจากนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการตรากฎหมายแบบไม่มีเหตุมีผลหรือเพื่อพวกพ้อง หรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงได้วางหลักในการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติไว้ชัดเจนว่า กฎหมายที่จะตราขึ้นนั้น ต้อง …

(1) เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

(2) ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ กฎหมายนั้นต้อง

2.1 ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม

2.2 ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

2.3 ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล

2.4 ระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย และ

2.5 มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป

  • ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบว่า การตรากฎหมายเป็นไปตามหลักทั้ง 5 ประการข้างต้น หรือที่เรียกกันว่า “การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย” หรือไม่ ทั้งร่างกฎหมายที่ยังไม่มีผลใช้บังคับ และกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว
  • ถ้าเป็นร่างกฎหมาย – ส.ส. ส.ว. หรือนายกรัฐมนตรี สามารถร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยได้
  • ถ้าเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว – ประชาชนผู้เป็นคู่ความในคดีอาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลที่พิจารณาคดีนั้น ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

หน้าที่ของปวงชนชาวไทย 10 ประการ

ปวงชนชาวไทยมิได้มีแต่เฉพาะสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวข้างต้น แต่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวม ดังต่อไปนี้ด้วย

  • พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ รวมตลอดทั้งสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และให้ความร่วมมือในการบรรเทาสาธารณภัย
  • ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
  • เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ
  • รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
  • ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ
  • ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์ และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทรัพยากร ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม
  • เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ

หน้าที่ของรัฐ

ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดให้ “รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชน” ด้วยเพื่อให้รัฐต้องดำเนินการในเรื่องที่กำหนดให้แก่ประชาชน “ทุกคน” หรือ “ทุกชุมชน” เป็นการทั่วไป โดยที่ประชาชนแต่ละคนหรือแต่ละชุมชน “ไม่ต้องใช้สิทธิร้องขอ” ต่อไป  ถ้ารัฐไม่กระทำตามหน้าที่ ก็จะเป็นกรณีจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือถ้ากระทำหน้าที่ไม่ดี ประชาชนและชุมชนย่อมมีสิทธิติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ และฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นได้

หน้าที่ของรัฐมีดังนี้

  • พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย ความมั่นคงแห่งชาติ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
  • ดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
  • จัดให้เด็กเล็ก (1-3 ขวบ) ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาลเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมวัย โดยรัฐมีกองทุนช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขาดแคลนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่าง “คนมี” กับ “คนไม่มีหรือผู้ขาดแคลน” ทุนทรัพย์
  • จัดให้เด็กได้รับการศึกษาระดับอนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล 1 ถึง ม.3 รวม 12 ปี) โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และมุ่งให้เด็กได้เรียนตามความถนัดของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกัน
  • เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว รัฐต้องต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาตามความต้องการของแต่ละคนซึ่งมีความชอบหรือความถนัดแตกต่างกันไป โดยรัฐมีกองทุนช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขาดแคลนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างผู้มีกับผู้ไม่มีทุนทรัพย์
  • การศึกษาทุกระดับนั้น ต้องสอนผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย และภูมิใจในชาติ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ และมีความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย
  • รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
  • รัฐต้องคุ้มครองและบำรุงรักษาทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยร่วมกับประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน และต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด
  • รัฐต้องอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และต้องจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
  • ถ้าการดำเนินการใด ๆ ของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน (EHIA) และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งชุมชนและประชาชนที่เกี่ยวข้องก่อน และต้องนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตด้วย ถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้น รัฐต้องเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และโดยไม่ชักช้า
  • รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในความครอบครองของราชการที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารที่ว่านั้นได้โดยสะดวก เพื่อให้การปฏิบัติราชการมีความโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้โดยตรง อันจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและระงับยับยั้งการทุจริตและประพฤติมิชอบ
  • รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรของดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน โดยการจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ในการใช้คลื่นความถี่นั้นด้วย
  • รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเพราะประชาชนทุกคนเป็นผู้บริโภค
  • รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ไม่ใช้จ่ายเงินงบประมาณสะเปะสะปะอย่างที่ผ่าน ๆ มา ไม่สร้างภาระรุงรังหนักหนาสาหัสแก่ลูกหลานในอนาคต และมีระบบภาษีที่เป็นธรรม
  • รัฐต้องใช้มาตรการและกลไกเพื่อขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทุกรูปแบบ และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

แนวนโยบายแห่งรัฐ

  • จัดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล โดยยุทธศาสตร์ชาติจะกำหนดวิสัยทัศน์(Vision) ของชาติ และแผนยุทธศาสตร์ (Strategy Plan) ที่ประชาชนทุกภาคส่วนและรัฐเห็นดีเห็นงามร่วมกัน และร่วมมือกันในทุกทางเพื่อเป็นพลังในการช่วยกันทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนของชาติในระยะยาวเหมือนชาติอื่น ๆ เขา  มีตัวชี้วัดความคืบหน้าในการดำเนินการและความสำเร็จที่ชัดเจนและเป็นสากล โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย
  • ส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศโดยถือหลักความเสมอภาคในการปฏิบัติต่อกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ให้ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ และคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติและของคนไทยในต่างประเทศ
  • จัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร
  • มีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัดปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใด ๆ
  • ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายในคดีอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น โดยในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานนั้น รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในทุกกรณี และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาดังกล่าวด้วย
  • จัดให้มีและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาศิลปวิทยาการให้เกิดความรู้ การพัฒนาการ และนวัตกรรม เพื่อความเข้มแข็งของสังคมและเสริมสร้างความสามารถของคนในชาติ
  • ส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุขและไม่ถูกรบกวน แต่ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย
  • ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของสังคม จัดให้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ส่งเสริมและพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีจิตใจเข้มแข็ง ส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาให้ไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพและความสามารถสูงขึ้น
  • ให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ยากไร้ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ คุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และให้การบำบัด ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว
  • จัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล
  • วางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
  • มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
  • จัดให้มีทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมทั้งการประกอบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอื่น
  • จัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใดที่เหมาะสม
  • ส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานโดยเหมาะสมกับศักยภาพและวัย มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงานหรือยามชรานั่นเอง รวมทั้งจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
  • จัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน(Inclusive Growth) อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่เป็นสากล สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก แทนการมุ่งเน้นระบบเศรษฐกิจแบบการค้าเสรีที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา มุ่งขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ โดยรัฐต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุ กับการพัฒนาด้านจิตใจและความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ประกอบกัน ไม่ใช่มุ่งพัฒนาความเจริญทางวัตถุเป็นหลักอย่างเช่นที่ผ่าน ๆ มา
  • ไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ
  • ส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ และกิจการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของประชาชนและชุมชน
  • พัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐอย่างอื่นให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนอย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพ
  • การบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม และต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
  • จัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพที่ไม่จำเป็นโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ทั้งต้องจัดให้มีระบบการวิเคราะห์หรือตรวจสอบความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมาย และมีระบบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกฉบับเป็นระยะ ๆ เพื่อให้กฎหมายมีกลไกหรือมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
  • ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน

ระบบเลือกตั้ง สส – กาบัตรเดียว

  • สส. เขต 350 คน/สส. บัญชีรายชื่อ 150 คน รวม 500 คน
  • วาระ 4 ปี
  • เลือกตั้งโดยตรงและลับ
  • ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าคูหากาบัตรเดียว ได้ทั้ง สส. เขต และ สส. บัญชีรายชื่อ
  • ที่ต้องให้มี สส. บัญชีรายชื่อเพราะ สส. เขตใช้ระบบใครได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง (First Passes the Post)  ดังนั้น คะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงให้แก่ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้งอื่นทุกราย รวมทั้งคะแนนเสียงไม่เลือกใคร (Vote No) จึงไม่มีความหมาย ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีนั้น คะแนนของผู้ได้รับเลือกตั้งยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยซ้ำไป และคะแนนของผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้งทุกรายรวมกันแล้วกลับมากกว่าคะแนนผู้ได้รับเลือกตั้งเสียอีก ซึ่งไม่เป็นธรรม
  • เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงกำหนดให้นำคะแนนเสียงทุกคะแนนที่มีการลงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขต ทุกรายไปใช้ในการคำนวณจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่แต่ละพรรคจะพึงมี (แต่ไม่ใช่ทุกเสียงจะต้องได้ผู้แทน) โดยใช้วิธีบัญญัติไตรยางค์ธรรมดา หากพรรคใดได้ สส. เขตเกินจากจำนวน สส. ที่จะพึงมีแล้ว ก็ให้ถือว่ามี สส. เท่านั้น – ไม่ได้รับ สส. บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก – แต่ถ้าได้ สส. เขต น้อยกว่าจำนวน สส. ที่พึงมี ก็จะได้รับ สส. บัญชีรายชื่อเพิ่มจนครบจำนวน สส. ที่พึงมี  นอกจากนี้ ผู้สมัครซึ่งจะได้รับเลือกเป็น สส. เขต ก็ต้องได้คะแนนมากกว่าจำนวนคะแนนเสียงไม่เลือกใคร (Vote No) ด้วย ซึ่งสามารถแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นได้
  • ในระบบนี้ พรรคการเมืองต้องเฟ้นหาผู้สมัครที่ดีที่สุดในแต่ละเขตเพราะมีผลกระทบต่อคะแนนรวมที่แต่ละพรรคจะได้รับจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ทำแบบเดิม ๆ ว่าถ้าไม่มีลุ้นในเขตใด จะส่งหมูเห็ดเป็ดไก่ที่ไหนไปสมัครก็ได้อันเป็นการดูหมิ่นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหมือนที่ผ่าน ๆ มา อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเบื่อการเมืองและการเลือกตั้ง และขาดความเชื่อมั่นและความศรัทธาในประชาธิปไตย
  • การยกเลิกการกาบัตรสองใบ “มิใช่การลิดรอนสิทธิเลือกตั้งของประชาชน” เพราะเดิมที่เข้าใจกันว่าบัตรหนึ่งเลือก สส. เขต ส่วนอีกบัตรหนึ่งเลือกพรรคนั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะบัตรที่เข้าใจว่าเป็นการเลือกพรรคนั้น แท้จริงแล้วเป็นบัตรเลือก สส. บัญชีรายชื่อที่พรรคทำขึ้นโดยพรรคเรียงลำดับผู้สมัครทุกรายไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อไม่มีการอธิบายประเด็นนี้ให้ประชาชนเข้าใจ ประชาชนจึงเข้าใจว่าการกาบัตรที่สองเป็นการเลือกพรรค เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งแบบการบัตรสองใบที่ผ่าน ๆ มาจึงทำให้ผลการเลือกตั้งคลาดเคลื่อนมาโดยตลอด อีกทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเกิดความสับสน กาผิดกาถูกก็มี หรือหย่อนบัตรผิดหีบก็มี จนมีบัตรเสียเป็นจำนวนมากเป็นล้านบัตรอันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ

คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. – ต้องเข้มเพื่ออนาคตของชาติ

บุคคลดังต่อไปนี้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.

  • ติดยาเสพติดให้โทษ
  • เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  • เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
  • เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • อยู่ระหว่างถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามคำพิพากษาหรือตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
  • ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  • เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  • เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  • เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนัน ในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  • เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
  • เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
  • เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
  • เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
  • อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หน้าที่ สส.

  • พิจารณาร่างกฎหมาย
  • ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  • ปีหนึ่งมีประชุม 2 สมัย สมัยละไม่น้อยกว่า 120 วัน
  • สส. 1/5 สามารถเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ (เดิมเปิดอภิปรายทั้งคณะไม่ได้) แต่ให้ทำได้เพียงปีละครั้งเพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านเกเรใช้เป็นช่องทางในการป่วนการทำงานของรัฐบาล
  • สส. 1/10 สามารถเสนอญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติได้ เพื่อเป็นช่องทางให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้
  • เพื่อให้รัฐสภาเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างแท้จริง ถ้าผู้นำฝ่ายค้านเห็นว่ามีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้นำฝ่ายค้านจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ในกรณีนี้ คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุม แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้ วิธีประชุมให้ประชุมลับ เพราะต้องการให้ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายรับผิดชอบร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติ ไม่ใช่ใช้การถ่ายทอดสดเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงและโจมตีกันไปมา ซึ่งมีแต่จะสร้างความแตกแยกเหมือนเช่นที่ผ่าน ๆ มา
  • ในเรื่องงบประมาณ สส. จะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการไม่ได้ แต่อาจแปรญัตติตัดลดรายจ่ายได้ เว้นแต่รายการ (1) ส่งใช้ต้นเงินกู้ (2) ส่งใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ (3) ใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด
  • ห้าม สส. แปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้ตนมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย (งบแปรญัตติ) ถ้ามีการกระทำดังกล่าว สส. 1/10 อาจเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ถ้าวินิจฉัยว่ามีการกระทำดังกล่าว ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวนั้นไม่มีผล และให้ สส. นั้นพ้นจากสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น หากรัฐมนตรีกระทำการดังกล่าวเสียเอง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีผู้กระทำการหรือไม่ยับยั้งการกระทำนั้น

ทำไมยังต้องมี สว.

  • เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 สว. ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นพี่เลี้ยงแก่ สส. ที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่ แต่เนื่องจากสมัยนั้นการศึกษาของประชาชนยังไม่ทั่วถึงและการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นรวดเร็วมาก สส. ส่วนใหญ่จึงยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและในการตรากฎหมาย จึงมีการสร้าง สว. ขึ้นเพื่อเป็น “สภาพี่เลี้ยง” ของ สส. โดยจะแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ
  • ต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ สว. จาก สว. แต่งตั้ง เป็น สว. เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อย่างเดียวกับ สส.  การเลือกตั้ง สว. โดยตรงนี้เองที่ทำให้ สว. ต้องอิงกับระบบการเมืองเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง – เพราะการเลือก สส. นั้นเรายังต้องแบ่งจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเลย เพราะเขตจังหวัดใหญ่เกิน หาเสียงไม่ไหว แต่ในการเลือกตั้ง สว. ที่ผ่านมาได้กำหนดให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง – จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้สมัคร สว. จะหาเสียงได้ทั่วทั้งจังหวัด – ผู้สมัคร สว. จึงต้องยึดโยงกับพรรคการเมืองเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง – นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้ให้อำนาจแก่ สว. ในการ “ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วยทั้ง ๆ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเหมือนกับ สส. ดังนั้น จึงไม่ยากที่ฝ่ายการเมืองจะ “ครอบงำ” สว. เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นการยากที่ สว. จะมีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
  • แม้หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ สว. โดยใช้ระบบผสม กล่าวคือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนส่วนหนึ่ง กับ สว. สรรหา อีกส่วนหนึ่ง ก็ไม่ได้แก้ปัญหาเดิม แถมเพิ่มปัญหาใหม่เข้าไปอีก – เพราะ สว. เลือกตั้ง ยังคงอิงกับระบบการเมือง ส่วน สว. สรรหาก็ถูกโจมตีว่าไม่มีความยึดโยงกับประชาชน – การทำงานของ สว. อันมีที่มาแตกต่างกันจึงขาดความเป็นเอกภาพมากกว่าเดิม
  • อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญนี้เห็นว่า สว ยังคงมีความสำคัญสำหรับประเทศไทย แต่มิใช่ในฐานะสภาพี่เลี้ยงอย่างเดิม หากแต่เป็น “สภาเติมเต็ม” หรือสภาที่ประชาชนสามารถเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติได้โดยตรง อันจะช่วยให้พิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สส. ให้รอบคอบรอบด้านมากยิ่งขึ้นตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรากฎหมาย เพราะ สส. เป็นตัวแทนพื้นที่และเป็นตัวแทนพรรค การพิจารณาร่างกฎหมายจึงยังขาดมุมมองของภาคส่วนอื่นที่หลากหลายของสังคมอันจะทำให้กฎหมายต่าง ๆ มีความรอบคอบมากขึ้น
  • นอกจากนี้ การให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งนั้น ที่ผ่าน ๆ มาก็แสดงให้เห็นว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายการเมืองที่ไม่สุจริตพยายามเข้าแทรกแซง สว. ในรูปแบบต่าง ๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมิได้กำหนดให้ สว. มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป และโดยที่การดำเนินการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งจะมีผลเป็นการเพิกถอน “สิทธิเลือกตั้ง” หรือ “สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” ของบุคคลด้วย ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีเหตุให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่

ระบบการเลือก สว.

  • สว. มีจำนวน 200 คน
  • เดิมใช้เลือกตั้งโดยตรงกับแต่งตั้งมีปัญหามาก เพราะที่มาจากการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดจะอิงกับพรรคการเมืองเพราะต้องหาเสียง ต้องใช้หัวคะแนน การเมืองแทรกแซงได้ แต่ถ้ามาจากการแต่งตั้งก็ถูกกล่าวหาว่าขาดความยึดโยงกับประชาชน
  • ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงเปลี่ยนใหม่วิธีการเลือก สว. ใหม่ โดยให้มาจากการเลือกกันเองของประชาชนพลเมืองผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือมีสถานะต่าง ๆ เช่น ผู้พิการ ฯลฯ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ จากทุกภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม (All walks of life)
  • วิธีการลือก สว. เช่นนี้“เปิดกว้าง” ให้ประชาชนพลเมืองทุกคนซึ่งมีคุณสมบัติสมัครเข้ารับการเลือกได้โดยสะดวก เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนเข้ามา “มีส่วนร่วมโดยตรง” ในการใช้อำนาจอธิปไตย แล้วให้ผู้สมัครแต่ละด้านเลือกกันเองให้ได้ 200 คน โดยให้เลือกไขว้กลุ่มเพื่อป้องกันการฮั้วกันทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ

หน้าที่ สว

  • ไม่ใช่สภาพี่เลี้ยงของ สส อย่างเดิม หากแต่เป็น “สภาเติมเต็ม” โดยจะช่วยพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สส ให้รอบด้าน เพราะเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ จากภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม
  • เห็นชอบการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ที่มา นรม.

  • ในการหาเสียง พรรคต้องแจ้งชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อ กกต. ด้วย พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ และในการหาเสียง ต้องประกาศให้ประชาชนทราบรายชื่อดังกล่าวด้วย
  • รายชื่อที่เสนอ พรรคเป็นผู้คัดเลือกและเสนอ จะเสนอจากผู้เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกพรรคก็ได้ และจะเป็น สส. หรือไม่ก็ได้ ถือเป็นเอกสิทธิ์ของพรรคที่จะตัดสินใจ และพรรคต้องรับผิดชอบต่อสมาชิกพรรคและประชาชนในการตัดสินใจนั้น
  • ที่ผ่านมาประชาชนไม่มีสิทธิรู้ล่วงหน้าว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี – ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ด้วยว่าพรรคการเมืองที่ตนจะตัดสินใจสนับสนุนนั้นมีจุดยืนอย่างไร จะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี
  • ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ทั้งต้องมีหนังสือยินยอมให้พรรคเสนอชื่อ – การยินยอมให้เสนอชื่อเกินหนึ่งพรรค การยินยอมนั้นเป็นโมฆะ
  • สส. เป็นผู้เลือก นรม. จากรายชื่อในบัญชีของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น สส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน สส. ทั้งหมด (อย่างน้อย 25 คน)

คณะรัฐมนตรี (ครม.)

  • ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี (นรม.) คนหนึ่งและรัฐมนตรี (รมต.) อื่นอีกไม่เกิน 35 คน
  • จะเป็น สส. หรือไม่ก็ได้
  • ครม. ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ
  • นโยบายของ ครม. ต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ
  • ในการบริหารราชการแผ่นดิน ครม. ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม

(2) รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

(3) ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

(4) สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดองกัน

  • รมต. ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการตามนโยบายของ ครม.
  • ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ ครม. เห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของ สส. และ สว.  นรม.จะขอให้ประธานรัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติก็ได้
  • ครม. อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใด ๆ อันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ศาลรัฐธรรมนูญ

  • จำนวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
  • มาจากศาลฎีกา 3 คน ศาลปกครองสูงสุด 2 คน ศาสตราจารย์สาขานิติศาสตร์ 1 คน ศาสตราจารย์สาขารัฐศาสตร์/รัฐประศาสนศาสตร์ 1 คน ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินระดับอธิบดีขึ้นไป 2 คน
  • วาระ 7 ปี
  • มีหน้าที่ดังนี้

(1) วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมาย

(2) วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ

(3) วินิจฉัยการกระทำอันเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ

(4) วินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ สส และ สว และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรี

(5) วินิจฉัยการกระทำอันเป็นการแปรญัติติกฎหมายงบประมาณที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

(6) วินิฉัยว่าร่างกฎหมายที่เสนอใหม่มีหลักการซ้ำกับร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งหรือไม่

(7) วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางหรือไม่

(8) วินิจฉัยว่าบุคคลใดถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่

  • ศาลรัฐธรรมนูญถูกตรวจสอบโดย ปปช. เหมือนกับองค์กรอื่น ๆ

องค์กรอิสระ

  • มี 5 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
  • เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดำเนินการหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของประเทศดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต และโปร่งใส – มิใช่องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อจ้องจับผิดรัฐบาลหรือนักการเมืองเหมือนอย่างที่เข้าใจคลาดเคลื่อนกันมาโดยตลอด – และร่วมกันกำหนด “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่จะนำไปใช้บังคับแก่ สส. สว. และ ครม. ด้วย
  • การใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ
  • มาจากการสรรหาหรือคัดเลือก แล้วแต่กรณี
  • ในการสรรหาจะมีคณะกรรมการสรรหามีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน (หลักการเดียวกับ รธน. 50)
  • ผู้ได้รับการสรรหาต้อง (1) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (2) มีความรับผิดชอบสูง (3) มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ (กล้าตัดสินใจ) และ (4) มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม (Role model)
  • ถ้าองค์กรอิสระแห่งใดไต่สวนกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนแล้วพบว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการกระทำนั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระแห่งอื่นด้วย ให้องค์กรอิสระนั้นส่งเรื่องให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน
  • องค์กรอิสระแต่ละแห่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการโดยเฉพาะ โดยให้มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดคนหนึ่งซึ่งแต่งตั้งโดยความเห็นชอบขององค์กรอิสระแต่ละแห่ง เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานของหน่วยงานนั้น

ศาล และองค์กรอัยการ

  • หมวดศาลประกอบด้วย ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
  • รับรองว่าผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งต้องให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง
  • วางหลักประกันความเป็นอิสระว่า เงินเดือนและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาหรือตุลาการต้องมีความเป็นอิสระ และดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • รับรองความมีอยู่และความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอัยการ และเพื่อให้พนักงานอัยการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์และการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง มีอิสระในการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรมเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน

การป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์

  • สส. สว. และ ครม. ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interests)

การปกครองส่วนท้องถิ่น

  • กำหนดให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่กฎหมายบัญญัติ
  • การจัดตั้ง อปท. รูปแบบใดให้คำนึงถึงความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน
  • อปท. มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ใช่คิดถึงการหารายได้อย่างเดียว
  • รัฐต้องดำเนินการให้ อปท. มีรายได้ของตนเองให้สามารถจัดทำบริการสาธารณะได้อย่างเพียงพอ
  • การจัดทำบริการสาธารณะใดที่สมควรให้เป็นหน้าที่โดยเฉพาะของ อปท. แต่ละรูปแบบ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติโดยสอดคล้องกับรายได้ของท้องถิ่น ซึ่งต้องกำหนดขั้นตอนในการกระจายอำนาจของส่วนราชการตลอดจนงบประมาณและบุคลากรที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจดังกล่าวให้แก่ อปท. ด้วย
  • อปท. ต้องมีอิสระในการบริหาร การจัดบริการสาธารณะ และการเงินและการคลัง
  • การกำกับดูแล อปท. ให้ทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริต และการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การบริหารงานบุคคลของ อปท. ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง
  • ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น หรือวิธีอื่นตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แต่วิธีอื่นดังกล่าวต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
  • ในการดำเนินงาน อปท. สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลและดำเนินการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
  • ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท. ยังคงมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

  • ห้ามแก้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
  • รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน

การปฏิรูปประเทศ

  • กำหนดให้ต้องมีการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม (รวมทั้งตำรวจ) การศึกษา เศรษฐกิจ และด้านอื่นที่จำเป็น เพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังต่อไปนี้

(1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ

(2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ

(3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

  • กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นกรอบในารดำเนินการซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทำแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องกำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในแต่ละด้านภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้รวมตลอดทั้งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลาห้าปี
  • เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ได้กำหนดให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และประกาศใช้บังคับภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

บทเฉพาะกาล

  • บทเฉพาะกาลเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับชั่วคราวในช่วงระหว่างที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่จนถึงวันที่มีรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้แล้วเท่านั้น
  • รองรับสถานะขององค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ว่ายังคงอยู่ต่อไปและปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้
  • กำหนดให้ สว. ในวาระเริ่มแรกมาจากการสรรหาของ คสช. ผ่านคณะกรรมการสรรหา จำนวน 194 คน ผ่านการเลือกตั้งทางอ้อมตามรัฐธรรมนูญนี้ 50 คน และมี สว. โดยตำแหน่ง 6 คน รวม 250 คน โดยให้อยู่ในตำแหน่งเพียง 5 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง สำหรับอำนาจหน้าที่ของ สว. ชุดแรกนี้ มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับ สว. ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ และให้มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จตามที่กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศบัญญัติไว้ด้วย เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าไปได้อย่างแท้จริง
  • รับรองความมีอยู่และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อในระหว่างที่ยังไม่มีรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้เคยรับรองไว้แล้ว

ที่มา : นักร่างกฎหมาย

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ไฟล์ PDF ฉบับเต็ม)

ดาวน์โหลดคลิก http://bit.ly/constitution_thailand

แนวข้อสอบปลัดเภอปี 2559

ปลัดอำเภอเป็นตำแหน่งที่ปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานระดับต้น ที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถทางวิชาการ ในการทำงาน ปฏิบัติงานด้านการปกครอง ภายใต้การกำกับ แนะนำ ตรวจสอบ และปฏิบัติงานอื่น ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งมีอยู่เยอะมาก การสอบปลัดอำเภอจึงต้องใช้ความรู้ ความสามารถหลากหลายในการวัดผล ข้อมูลจากเว็บไซต์ กพ. ได้ระบุถึงความรู้ที่จำเป็น (วิชาที่สอบ) และทักษะ/สมรรถนะ ไว้ดังนี้

>> ความรู้ที่จำเป็น (วิชาที่สอบ) 

(1) ความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ และความรู้ความเข้าใจในบทบาทภารกิจของกรมการปกครอง (180 คะแนน)

(1.1) ความรู้ทางด้านวิชาการเมือง การปกครอง และการบริหารราชการ

(1.2) ความรู้เกี่ยวกับการสภาพแวดล้อม สถานการณ์ปัจจุบันทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีของประเทศไทยและต่างประเทศ

(1.3) ความรู้เกี่ยวกรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทย

  • วิสัยทัศน์
  • พันธกิจ
  • โครงสร้าง
  • อำนาจหน้าที่และภารกิจ

(1.4) ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนและการบริหารจัดการ

  • การวางแผนเชิงกลยุทธ์
  • การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ การติดตามและประเมินผล
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • การบริหารเชิงกลยุทธ์
  • การบริหารจัดการ

(1.5) ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ ได้แก่

  • กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
  • กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
  • กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
  • กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
  • กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารทางราชการ
  • พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
  • ระเบียบเกี่ยวกับงานสารบรรณ
  • ระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความลับทางราชการ
  • ระเบียบเกี่ยวกับการงบประมาณ การเงิน การคลังและการพัสดุ

(1.6) ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย

  • กฎหมายทั่วไป
  • กฎหมายอาญา
  • กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  • กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
  • กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(1.7) ความรู้เกี่ยวกับการปกครองท้องที่ ได้แก่

  • กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
  • กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล และคณะกรรมการหมู่บ้าน

(1.8) ความรู้เกี่ยวกับงานทะเบียน

  • ทะเบียนราษฎร
  • งานบัตรประจำตัวประชาชน
  • งานทะเบียนทั่วไป

(1.9) ความรู้เกี่ยวกับอาวุธปืน การพนัน สถานบริการ และงานอื่น ๆ

  • งานอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน
  • งานการพนัน
  • งานควบคุมการเรี่ยไร
  • งานควบคุมการขายทอดตลาด และค้าของเก่า
  • งานโรงรับจำนำ
  • งานโรงแรม
  • งานสถานบริการ และงานอื่น ๆ ที่ฝ่ายปกครองรับผิดชอบ

(1.10) ความรู้เกี่ยวกับการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน

  • การสอบสวนคดีอาญาในความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง
  • การไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท
  • การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ
  • กฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้

(1.11) ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย

  • การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน
  • การจัดระเบียบสังคมในหน้าที่ของกรมการปกครอง
  • งานกิจการกองอาสารักษาดินแดน

(2) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาภาษาอังกฤษ (20 คะแนน)

>> ทักษะ/สมรรถนะ

(1) การสัมภาษณ์รายบุคคล
เป็นการทดสอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่งที่จะบรรจุและแต่งตั้งโดยวิธีการสัมภาษณ์เพื่อประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งจาก

  • ประวัติส่วนตัว
  • ประวัติการศึกษา
  • ประวัติการทำงาน
  • ประสบการณ์
  • ท่วงทีวาจา อุปนิสัย อารมณ์ ทัศนคติ
  • การปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปฏิภาณไหวพริบ
  • บุคลิกภาพและพฤติกรรมของผู้สอบแข่งขัน เพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม
  • ความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะ และอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง

และพิจารณาความสามารถในด้านทักษะการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) ความสามารถในการสื่อสาร ปฏิภาณไหวพริบ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้สอบแข่งขัน ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อเรื่องที่จะพูดในที่สาธารณะ โดยใช้เวลาในการพูด คนละประมาณ 5 นาที

(2) การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย
เป็นการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย โดยผู้สอบแข่งขันจะต้องเป็น ผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง และสามารถเข้าทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายตามที่กำหนดได้ ประกอบด้วย

  • ดันพื้น นอนยกตัว
  • วิ่งระยะทาง 2,000 เมตร

เริ่มแล้วสมัครสอบปลัดอำเภอปี 2559 รับครั้งแรก 100 อัตรา!

วันที่หลายๆ คนรอคอยก็ได้มาถึงกันอีกครั้งหนึ่งครับ หลังจากที่มีข่าวลือการเปิดรับสมัครมาสักระยะหนึ่งแล้ว วันนี้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่ง เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) (วุฒิปริญญาตรี)

การเปิดรับสมัครปลัดอำเภอรอบนี้ถือว่าเร็วมากทีเดียว เนื่องจากครั้งล่าสุดเพิ่งสอบไปเมื่อปีที่แล้ว 2558 ผ่านมาครบ 1 ปีพอดีก็เปิดรับสมัครรอบใหม่กันอีกแล้ว แสดงว่าความต้องการปลัดอำเภอมีเยอะมากจริง รอบนี้เปิดรับสมัครปลัดอำเภอมีจำนวนอัตราว่างบรรจุครั้งแรกถึง 100 อัตรา (มีครั้งแรก แสดงว่าอาจจะมีครั้งต่อๆ ไปตามมา) โดยเปิดรับสมัครสอบทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2559 ไม่เว้นวันหยุดราชการ ที่เว็บไซต์ job.dopa.go.th หรือ www.dopa.go.th 

รายละเอียดการรับสมัคร

ประกาศรับสมัคร ข้าราชการ โดยวิธีสอบแข่งขัน
ชื่อตำแหน่ง เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ)
อัตราเงินเดือน 15,000 – 16,500 บาท
ประเภท วิชาการ ระดับปฏิบัติการ
จำนวนตำแหน่งว่าง  รับครั้งแรก 100 ตำแหน่ง
ระดับการศึกษา ปริญญาตรี
รายละเอียดวุฒิ เป็นผู้ได้รับปริญญาตรีหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในสาขาวิชารัฐศาสตร์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ หรือสาขาวิชานิติศาสตร์
ลักษณะงานที่ปฏิบัติ ปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานระดับต้น ที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถทางวิชาการ ในการทำงาน ปฏิบัติงานด้านการปกครอง ภายใต้การกำกับ แนะนำ ตรวจสอบ และปฏิบัติงานอื่น ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีลักษณะงานที่ปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านการปฏิบัติการ
(1) ศึกษา วิเคราะห์ เสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางปฏิบัติงาน พัฒนาระบบงาน ตรวจสอบ ปรับปรุงกฎหมาย รวมทั้งการติดตามประเมินผล และปฏิบัติงานด้านการปกครองเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ การอำนวยความเป็นธรรม การปกครองท้องที่ การอาสารักษาดินแดน และการทะเบียน เพื่อให้ประชาชน มีความมั่นคงปลอดภัย ได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว และเกิดความสงบสุขในสังคม
(2) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใน ความรับผิดชอบของกรมการปกครองและกฎหมายอื่นที่ได้รับมอบหมาย ทั้งในฐานะปลัดอำเภอ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และความสงบเรียบร้อยของสังคม
(3) ปฏิบัติงานช่วยเหลือ สนับสนุนงานตามอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ ในการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม และจังหวัด มาปฏิบัติให้บรรลุผล ตามเป้าหมาย และอำนวยการตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นผู้แทนนายอำเภอตามกฎหมาย เพื่อให้การบริหารราชการส่วนภูมิภาคระดับอำเภอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ด้านการวางแผน
วางแผนการทำงานที่รับผิดชอบ ร่วมดำเนินการวางแผนการทำงาน ของหน่วยงานหรือโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่กำหนด

ด้านการประสานงาน
(1) ประสานการทำงานร่วมกันทั้งภายในและภายนอกทีมงานหรือหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือและผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด
(2) ชี้แจงและให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล ข้อเท็จจริง แก่บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจหรือความร่วมมือในการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย

ด้านการบริการ
(1) ให้บริการเกี่ยวกับภารกิจของกรมการปกครอง เช่น ด้านทะเบียนและบัตร การอำนวยความเป็นธรรม แก่ส่วนราชการทั้งภายในและภายนอกองค์กร องค์กรภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน
(2) ให้ความรู้ ความเข้าใจ คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐตามสิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเป็นธรรม
(3) เผยแพร่ข้อมูลด้านการเมืองการปกครอง และส่งเสริมให้ประชาชน ได้มีโอกาสรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง ถูกต้อง และรวดเร็ว

ความรู้ที่จำเป็น (วิชาที่สอบ) (1) ความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ และความรู้ความเข้าใจในบทบาทภารกิจของกรมการปกครอง (180 คะแนน)

(1.1) ความรู้ทางด้านวิชาการเมือง การปกครอง และการบริหารราชการ

(1.2) ความรู้เกี่ยวกับการสภาพแวดล้อม สถานการณ์ปัจจุบันทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีของประเทศไทยและต่างประเทศ

(1.3) ความรู้เกี่ยวกรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทย

  • วิสัยทัศน์
  • พันธกิจ
  • โครงสร้าง
  • อำนาจหน้าที่และภารกิจ

(1.4) ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนและการบริหารจัดการ

  • การวางแผนเชิงกลยุทธ์
  • การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ การติดตามและประเมินผล
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • การบริหารเชิงกลยุทธ์
  • การบริหารจัดการ

(1.5) ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ ได้แก่

  • กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
  • กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
  • กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
  • กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
  • กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารทางราชการ
  • พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
  • ระเบียบเกี่ยวกับงานสารบรรณ
  • ระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความลับทางราชการ
  • ระเบียบเกี่ยวกับการงบประมาณ การเงิน การคลังและการพัสดุ

(1.6) ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย

  • กฎหมายทั่วไป
  • กฎหมายอาญา
  • กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  • กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
  • กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(1.7) ความรู้เกี่ยวกับการปกครองท้องที่ ได้แก่

  • กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
  • กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล และคณะกรรมการหมู่บ้าน

(1.8) ความรู้เกี่ยวกับงานทะเบียน

  • ทะเบียนราษฎร
  • งานบัตรประจำตัวประชาชน
  • งานทะเบียนทั่วไป

(1.9) ความรู้เกี่ยวกับอาวุธปืน การพนัน สถานบริการ และงานอื่น ๆ

  • งานอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน
  • งานการพนัน
  • งานควบคุมการเรี่ยไร
  • งานควบคุมการขายทอดตลาด และค้าของเก่า
  • งานโรงรับจำนำ
  • งานโรงแรม
  • งานสถานบริการ และงานอื่น ๆ ที่ฝ่ายปกครองรับผิดชอบ

(1.10) ความรู้เกี่ยวกับการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน

  • การสอบสวนคดีอาญาในความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง
  • การไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท
  • การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ
  • กฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้

(1.11) ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย

  • การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน
  • การจัดระเบียบสังคมในหน้าที่ของกรมการปกครอง
  • งานกิจการกองอาสารักษาดินแดน

(2) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาภาษาอังกฤษ (20 คะแนน)

ทักษะ/สมรรถนะ (1) การสัมภาษณ์รายบุคคล
เป็นการทดสอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่งที่จะบรรจุและแต่งตั้งโดยวิธีการสัมภาษณ์เพื่อประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งจาก

  • ประวัติส่วนตัว
  • ประวัติการศึกษา
  • ประวัติการทำงาน
  • ประสบการณ์
  • ท่วงทีวาจา อุปนิสัย อารมณ์ ทัศนคติ
  • การปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปฏิภาณไหวพริบ
  • บุคลิกภาพและพฤติกรรมของผู้สอบแข่งขัน เพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม
  • ความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะ และอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง

และพิจารณาความสามารถในด้านทักษะการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) ความสามารถในการสื่อสาร ปฏิภาณไหวพริบ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้สอบแข่งขัน ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อเรื่องที่จะพูดในที่สาธารณะ โดยใช้เวลาในการพูด คนละประมาณ 5 นาที

(2) การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย
เป็นการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย โดยผู้สอบแข่งขันจะต้องเป็น ผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง และสามารถเข้าทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายตามที่กำหนดได้ ประกอบด้วย

  • ดันพื้น นอนยกตัว
  • วิ่งระยะทาง 2,000 เมตร
เงื่อนไข ไม่รับโอน
เปิดรับสมัคร วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 ถึง วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559
ประกาศรับสมัคร
Website สมัครสอบ job.dopa.go.th หรือ www.dopa.go.th 

ก.พ. เปิดสอบภาค ก. ประจำปี 2558 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 – 25 มีนาคม 2558

ประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง รับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2558

ด้วยสำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2558 จึงประกาศรับสมัครสอบ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ระดับวุฒิการศึกษาที่รับสมัครสอบ
สำนักงาน ก.พ.  จะรับสมัครสอบ จำนวน 4 ระดับ ได้แก่

1.  ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
– เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษา หรือที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2558 ในระดับ ปวช หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันกับคุณวุฒิดังกล่าว ที่ ก.พ. รับรอง

2. ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) อนุปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
– ผู้ที่สำเร็จการศึกษา หรือที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2558 .ในระดับ ปวท. อนุปริญญา หรือ ปวส หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบเท่าได้ในระดับเดียวกันกับคุณวุฒิดังกล่าวที่ ก.พ. รับรอง

3.  ระดับปริญญาตรี
– ผู้ที่สำเร็จการศึกษา หรือที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2558 ในระดับปริญญาตรีหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบเท่าได้ในระดับเดียวกันกับคุณวุฒิดังกล่าวที  ก.พ. รับรอง

4. ระดับปริญญาโท
– ผู้ที่สำเร็จการศึกษา หรือที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2558 ในระดับปริญญาโทหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบเท่าได้ในระดับเดียวกันกับคุณวุฒิดังกล่าวที  ก.พ. รับรอง

รายชื่อศูนย์สอบ และจำนวนที่นั่งสอบ

รหัสศูนย์สอบ ศูนย์สอบ จำนวนที่นั่งสอบ
ทั้งหมด
01 กรุงเทพฯ และปริมณฑล 150,000
02 ฉะเชิงเทรา 20,000
03 ราชบุรี 30,000
04 ชลบุรี 30,000
05 เชียงใหม่ 50,000
06 พิษณุโลก 50,000
07 อุดรธานี 50,000
08 อุบลราชธานี 40,000
09 นครราชสีมา 40,000
10 สุราษฎร์ธานี 40,000
11 สงขลา 50,000
รวม 550,000

หมายเหตุ : จำนวนที่นั่งสอบอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

การรับสมัคร
ผู้ประสงค์จะสมัครสอบ สมัครได้ทางอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 5 – 25 มีนาคม 2558 ตลอด 24 ชั่วโมง ที่เว็บไซต์ http://job3.ocsc.go.th/ หัวข้อ “การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2558” ไม่เว้นวันหยุดราชการ

กรมการปกครอง ประกาศรับสมัครสอบ “ปลัดอำเภอ” ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. – 19 มี.ค. 2558

ประกาศกรมการปกครอง
เรื่อง รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ
ในตำแหน่ง เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ)

ด้วยกรมการปกครอง จะดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ตำแหน่ง เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ว 17 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2556 เรื่อง การสรรหาโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ จึงประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ตำแหน่งที่รับสมัครสอบแข่งขัน

  • พื้นที่ทั่วไป
    • ตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) วุฒิปริญญาโท จำนวน 30 อัตรา
    • ตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) วุฒิปริญญาตรี จำนวน 90 อัตรา
  • พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) วุฒิปริญญาตรี จำนวน 15 อัตรา

วันที่รับสมัคร

การรับสมัครสอบ รับสมัครสอบทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2558 ไม่เว้นวันหยุดราชการ ที่เว็บไซต์ job.dopa.go.th หรือ www.dopa.go.th หัวข้อ “การรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ (ปลัดอำเภอ) พ.ศ.2558″ โดยผู้มีคุณสมบัติครบ และประสงค์จะสมัครสอบแข่งขันตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์และวิธีการสอบที่กำหนดให้ดำเนินการตามขั้นตอน

ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ วัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการสอบ กรมการปกครองจะประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ วัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการอบภายในวันที่ 30 เมษายน 2558 ทางเว็บไซต์กรมการปกครอง

 

กรมการปกครอง
เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ(ปลัดอำเภอ)

ลักษณะงาน : ปฏิบัติงานด้านการปกครองเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ การอำนวยความเป็นธรรม การปกครองท้องที่ การอาสารักษาดินแดน และ การทะเบียน เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัย ได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว และเกิดความสงบสุขในสังคม ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครองและกฎหมายอื่นที่ได้รับมอบหมาย ทั้งในฐานะปลัดอำเภอ พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด ให้บริการประชาชนเกี่ยวกับภารกิจของกรมการปกครอง รวมทั้งการเป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบจะต้องเป็นผู้ที่พร้อมและสามารถไปปฏิบัติหน้าที่ราชการประจำ ในต่างจังหวัด ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลและทุรกันดารได้ และต้องเป็นผู้มีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง
ความรู้ที่จำเป็น(วิชาที่สอบ) : 1. ความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ (50 คะแนน)1.1 ความรู้ทางด้านวิชาการเมือง การปกครอง และการบริหารราชการ

1.2 ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม สถานการณ์ปัจจุบันทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีของประเทศไทยและต่างประเทศ

1.3 ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ ได้แก่

– กฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

– กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

– กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

– กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

– กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารทางราชการ

– พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

– ระเบียบเกี่ยวกับงานสารบรรณ

– ระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความลับทางราชการ

– ระเบียบเกี่ยวกับการงบประมาณ การเงิน การคลังและการพัสดุ

1.4 ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

2. ความรู้ความเข้าใจในบทบาทภารกิจของกรมการปกครอง (100 คะแนน) 

2.1 วิสัยทัศน์ พันธกิจ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่และภารกิจของกรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทย

2.2 การปกครองท้องที่ ได้แก่

– กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

– กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบลและคณะกรรมการหมู่บ้าน

2.3 ความรู้เกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร

– งานทะเบียนราษฎร

– งานบัตรประจำตัวประชาชน

– งานทะเบียนทั่วไป

– งานอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน

– งานการพนัน

– งานควบคุมการเรี่ยไร

– งานควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า งานโรงรับจำนำ

– งานโรงแรม งานสถานบริการ

– งานอื่น ๆ ที่ฝ่ายปกครองรับผิดชอบ

2.4 ความรู้เกี่ยวกับการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน การสอบสวนคดีอาญา ในความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง และการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท

– การสอบสวนคดีอาญา

– การไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท

2.5 ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน การจัดระเบียบสังคมในหน้าที่ของกรมการปกครอง และงานกิจการกองอาสารักษาดินแดน

3. ความรู้เกี่ยวกับวิชาภาษาอังกฤษ ได้แก่ ทักษะการพูด อ่าน และเขียน (20 คะแนน)

4. ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ (30 คะแนน)

– การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การบริหารเชิงกลยุทธ์

– การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ การติดตามและประเมินผล

– แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

– การบริหารจัดการ

 

ที่มา :

เก็บตก…งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 19

เก็บตก…งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 19 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center) รอบนี้จัดมาเบาๆ แค่ 5 เล่มเอง

  • เขาชื่อตู่
  • ปฏิวัติ 2.0 (Revolution 2.0)
  • ประชาธิปไตย (Democracy)
  • โลกาภิวัฒน์ (Globalization)
  • jQuery Mobile
เก็บตกงานหนังสือ
เก็บตกงานหนังสือ